top of page

กลุ่มอาการปวดข้อลูกสะบ้า (Patellofemoral pain)


             ปัญหาปวดบริเวณลูกสะบ้า เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในทุกกลุ่มอายุ ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน อาจจะเกิดจาก


• มีปัญหาที่กระดูกอ่อนผิวข้อแล้วกระตุ้นให้เกิดการยึดหรืออักเสบของเยื่อหุ้มข้อในบริเวณดังกล่าว


• ประวัติการบาดเจ็บในบริเวณลูกสะบ้ามาก่อน ทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อมีการบาดเจ็บ


• การเรียงตัวของลูกสะบ้าผิดปกติ เช่น ลูกสะบ้าเอียง ลูกสะบ้าเคลื่อนที่ออกด้านข้าง การมีแรงดึงออกด้านนอกมากกว่าด้านในเนื่องจากเอ็นยึดด้านนอกลูกสะบ้าตึง

อาการและการแสดงออก


             ผู้ป่วยมักมีอาการปวดบริเวณข้อเข่าในขณะที่ต้องงอ-เหยียดเข่าซึ่งต้องรับน้ำหนักตัว เช่น เวลาเดินขึ้น-ลงบันใด หรือขึ้น-ลงที่สูง เวลานั่งนานๆ แล้วลุกขึ้น หรือเวลางอเข่ามากๆในรายที่เป็นมากๆผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดบวมของข้อเข่า เนื่องจากมีการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อแต่ไม่มีไข้เนื่องจากเดินไม่ได้เกิดการติดเชื้อ


             อาการปวดและใช้งานไม่ปกติเป็นปัญหาสำคัญ ผู้ป่วยมักจะหลีกเลี่ยงการใช้งานขาข้างที่เจ็บ และใช้ขาข้างที่ไม่เจ็บมากขึ้นจึงมักพบว่าอาการเจ็บย้ายมายังเข่าอีกข้างหนึ่งได้โดยที่อาการเจ็บเข่าด้านที่เป็นน้อยลง เนื่องจากเมื่อลดแรงกระทำต่อเข่า ทำให้อาการอักเสบลดลง บางครั้งก็สามารถมีอาการเป็น 2 ข้าง ได้


             เมื่อผู้ป่วยลดการใช้งานกล้ามเนื้อขา ทำให้เกิดปัญหากล้ามเนื้อลีบลง ทำให้ข้อลูกสะบ้าหลวมมากขึ้น ไม่กระชับ ทำให้เกิดปัญหาข้อลูกสะบ้ามากขึ้น รวมถึงผู้ป่วยไม่ได้แก้ไขการใช้งานที่เป็นสาเหตุ เราจึงพบว่าผู้ป่วยมักมีปัญหาเรื้อรัง เป็นแล้วเป็นอีกได้

การรักษา


           เนื่องจากปัญหาอาการปวดบริเวณข้อลูกสะบ้าเป็นปัญหาการใช้งานและการทำงานที่ผิดปกติ ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจปัญหาแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดแทนการให้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อระงับอาการซึ่งเป็นปลายเหตุ ทำให้ไม่หายขาดและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากยาเมื่อให้เป็นระยะเวลานาน

ในระยะแรก
           ควรพักหรือลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวดเข่าร่วมกับการใช้ยาต้านการอักเสบ ลดปวดข้อ การพันกระชับหรือใช้ผ้ารัดเข่าทำให้อาการดีขึ้นได้ แต่ควรใช้ในระยะสั้นๆเนื่องจากใช้ในระยะยาวหรือต่อเนื่อง อาจทำให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง (เพราะไม่ต้องออกแรงมากจากการที่มีอุปกรณ์มาพยุงข้อเข่า) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหา

หลังจากที่ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ผู้ป่วยควร


• ควบคุมน้ำหนักตัว


• หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง (จำเป็นต้องเกร็งเข่ามากขึ้นเวลาเดิน ทำให้เพิ่มแรงกดที่ข้อลูกสะบ้า)


• หลีกเลี่ยงการนั่งยองหรือพับเข่ามาก หรืองอเข่าเป็นระยะเวลานาน


• บริหารข้อเข่าเพื่อลดการตึงของกล้ามเนื้อและเอ็นโดยการดัดเข่าให้ยืดให้สุด และงอเข่าให้สุด (นั่งหรือนอนทำเพื่อให้เข่าไม่รับน้ำหนักขณะดัดเข่า) และการบริหารกล้ามเนื้อและเอ็นรอบหัวเข่าให้กระชับและแข็งแรงโดยการยืน-ย่อเข่าเพื่อเลียนแบบการใช้งานปกติของข้อเข่า และมีแรงกดที่ลูกสะบ้าต่ำ


• หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแบบหักโหม (เพิ่มเร็วหรือการออกกำลังกายมากเกินไป)


• ควรหลีกเลี่ยงการบริหารข้อเข่าแบบดั้งเดิมซึ่งให้ผู้ป่วยนั่งห้อยเท่าแล้วงัดขึ้น โดยเฉพาะร่วมกับการถ่วงน้ำหนักที่ข้อเท้า เพราะนอกจากจะไม่ใช่ท่าในการใช้งานปกติแล้ว การบริหารดังกล่าวจะได้กำลังเฉพาะกล้ามเนื้อด้านหน้าต้นขา เพียงอย่างเดียว และทำให้แรงกดที่ข้อลูกสะบ้ามากขึ้นกว่าปกติมากจึงมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บมากขึ้น

ในรายที่รักษาแบบอนุรักษ์ข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้น ควรพิจรณาผ่าตัดเพื่อแก้ไขเรื่องการเรียงตัวของลูกสะบ้า

การบริหารเพื่อลดอาการเจ็บข้อลูกสะบ้า


1. การบริหารยืดเอ็นรอบลูกสะบ้าโดยการใช้มือดันลูกสะบ้าไปด้านซ้าย ขวา บน ล่าง แล้วค้างไว้ทิศละ 5 วินาที ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง

2. ยืดเข่าให้สุดค้างไว้ 5 วินาที แล้วผ่อนกล้ามเนื้อ ยืดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง (สามารถนั่งทำได้)

3. งอเข่าให้สุด ค้างไว้ 5 วินาที แล้วผ่อนกล้ามเนื้อ ทำซ้ำหลายๆ ครั้ง (สามารถนั่งทำได้)

4. เหยียดขาให้ตรง ยกขาขึ้น เกร็งกล้ามเนื้อไว้ 5 วินาที ทำซ้ำหลายๆ ครั้ง

5. ยืน – ย่อเข่า ระยะแรงอาจใช้หลังพิงฝาผนัง หรือใช้มือ 2 ข้างเกาะพยุงตัวเพื่อลดอาการปวดข้อ เมื่ออาการดีขึ้นควรทำโดยไม่ต้องเกาะพยุง เพื่อให้ข้อกระชับและเป็นการฝึกการใช้งานปกติ

หมอกระดูกและข้อหาดใหญ่ หมอโรคเท้าและข้อเท้าหาดใหญ่ ปวดส้นเท้าหาดใหญ่ ซื้อรองเท้าหาดใหญ่ ยินดีให้คำปรึกษา
หมอกระดูกและข้อหาดใหญ่ หมอโรคเท้าและข้อเท้าหาดใหญ่ ปวดส้นเท้าหาดใหญ่ ซื้อรองเท้าหาดใหญ่ ยินดีให้คำปรึกษา
bottom of page